ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
16 ก.พ.2560

ผู้บริโภคเมินวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยหลังวัยเกษียณ แม้ไทยนั่งแท่นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากสุดใน APAC

Line


 
          DDproperty เผยผลสำรวจสุดช็อก ผู้บริโภคไทยชิลจัด ไม่รู้สึกกังวลหรือมีแผนรับมือกับชีวิตวัยเกษียณ โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัย ถึงแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

         จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ระหว่างพิจารณาจะซื้อและผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ จำนวน 661 คนในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาพบว่า 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของตนหลังวัยเกษียณ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก*

          จากการประมาณการพบว่าภายในปี 2573 หรืออีก 10 กว่าปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบก้าวกระโดด โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคนจาก 11 ล้านคนเมื่อปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 27 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือ ในประชากรทุกๆ 4 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน

          นอกจากนี้ ผลสำรวจของ DDproperty ยังพบว่ามีผู้ตอบแบบสำรวจเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่มีความกังวลว่าจะไม่สามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมหลังวัยเกษียณให้แก่ตนเอง (รูปที่1: 7 ข้อกังวลเรื่องการอยู่อาศัยเมื่อเข้าสู่ช่วงสูงวัย) นอกจากนี้ บทวิเคราะห์โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Economic Intelligence Center) พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมความพร้อมทางด้านการเงินหลังวัยเกษียณ และมักมองข้ามความสำคัญของการออมเงิน และการลงทุนเพื่อใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณ
 

 
          จากรายงานของธนาคารโลก (World Bank) พบว่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมุ่งหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุคืออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างน่าตกใจ จากร้อยละ 6.1 เมื่อปี 2508 เหลือเพียงร้อยละ 1.5 ในปี 2558 (รูปที่2: การลดลงของอัตราการเจริญพันธุ์ของหญิงไทย) เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีการศึกษาและมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น รวมถึงผลสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวที่รัฐบาลริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2513
 

 
          นอกจากไทยแล้ว สิงคโปร์ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียที่กำลังรับมือกับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งขณะนี้แดนลอดช่องมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 1ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมดและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 ภายในปี 2573** นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้คาดการณ์ว่าจำนวนผู้เกษียณวัยอายุ 62 ขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 900,000 คนในปีเดียวกันนี้ ถึงกระนั้นแล้ว จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ที่อยู่ระหว่างหาซื้อและผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศสิงคโปร์ครั้งล่าสุดพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 80 ไม่เห็นว่าชีวิตวัยเกษียณเป็นเรื่องใกล้ตัวที่จะส่งผลกระทบกับพวกเขาในปัจจุบัน และส่วนมากยังไม่รู้สึกว่าประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิต และที่อยู่อาศัยจะเป็นปัญหาใดๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยในปัจจุบัน แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) ของสิงคโปร์สูงกว่าไทยถึง 10 เท่า (รูปที่ 3: รายได้เฉลี่ยต่อหัว)

          แม้ว่าสิงคโปร์จะกำลังประสบปัญหาโครงสร้างประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดให้ผู้สูงอายุอยู่อาศัยในที่เดิม (ageing-in-place)*** โดยได้มีการจัดสรรที่ดินและพัฒนารูปแบบบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย ในขณะที่ องค์การอาคารและสิ่งก่อสร้าง (Building and Construction Authority) แห่งประเทศสิงคโปร์ได้มีการปรับเปลี่ยน ประมวลการเข้าถึงอาคารโดยปราศจากอุปสรรค (Code on Barrier-Free Accessibility in Buildings) ซึ่งออกเมื่อปี 2533 ให้เป็น “Code on Accessibility in the Built Environment 2013” ซึ่งเป็นข้อบังคับสำหรับการสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้าง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงวัย และจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ให้พวกเขาสามารถเข้าถึงอาคาร และสิ่งก่อสร้างต่างๆได้อย่างปลอดภัย

          “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรง ต่อจำนวนกำลังแรงงานที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประเภทต่างๆ สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเน้นความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ได้เริ่มมีการนำลักษณะและแบบบ้านที่ออกแบบเพื่อรองรับความต้องการของสังคมผู้สูงวัย แต่มีเพียงผู้บริโภคกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบกับตนเองและครอบครัวเท่านั้น ที่เริ่มเข้าใจว่าการออกแบบและเลือกที่อยู่อาศัยมีผลกระทบอย่างมาก ต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแบบสำรวจนี้ จะช่วยให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นปัญหาปัจจุบันในสังคม เข้าใจถึงความสำคัญของการมีกฎหมายที่เหมาะสมต่อการออกแบบอาคารและที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงวัยสามารถอาศัยอยู่ในที่ที่เดิมได้โดยให้มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาน้อยที่สุด” นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty กล่าว
 
ที่มา :  ดีดี พรอพเพอร์ตี้ www.ddproperty.com  
วันที่  16  กุมภาพันธ์  2560