ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
ข่าวอสังหาริมทรัพย์
Line
21 ก.พ.2561

ชงคลังเก็บภาษีลาภลอย 5%

Line


          นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. สศค. ได้ประชุมร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือที่เรียกกันว่าภาษีลาภลอย ที่เก็บส่วนต่างของมูลค่าที่ดิน หรือโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ตามแนวโครงการทางด่วน และแนวรถไฟฟ้าแล้ว และเตรียมเสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง พิจารณาภายในเดือน มี.ค. นี้ และหลังจากนั้นจะเสนอให้ ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด

          "ปัจจุบันมีหลายประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐ ฮ่องกง มีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว แต่ในไทยยังไม่เคยมีการจัดเก็บ ซึ่งยืนยันว่าจัดเก็บภาษีลาภลอยนี้จะเก็บเฉพาะทรัพย์สินบริเวณโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่มีผลย้อนหลังไปยังโครงการลงทุนที่ผ่านมา รวมถึงที่อยู่อาศัยเดิมก็จะไม่มีการเก็บภาษี ยกเว้นหากมีการขายเปลี่ยนมือและเกิดกำไรขึ้น ก็จะเก็บภาษีจากส่วนต่างกำไรที่เกิดขึ้น"

          น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังผลักดันแผนขยายฐานการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยจะไม่มีการขึ้นภาษีเดิม ซึ่งหลังจากนี้จะมีภาษีที่จัดเก็บขึ้นใหม่ อาทิ การเก็บภาษีลาภลอย รวมถึงการร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับการเสียภาษีของร้านค้าทั่วไปกับร้านค้าสินค้าออนไลน์

          รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า สำหรับประเภทโครงการพัฒนาของรัฐที่อยู่ในข่ายต้องเก็บภาษีลาภลอย คือ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งกำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กม. รอบสถานี โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บรัศมี 5 กม. จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ ทางด่วนพิเศษ รัศมี 2.5 กม. รอบทางขึ้นและทางลง และสนามบิน รัศมี 5 กม.จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน

          ทั้งนี้ในร่าง พ.ร.บ. จะกำหนดเพดานอัตราภาษีสูงสุดเอาไว้ที่ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี ซึ่งฐานภาษี คือส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้น ระหว่างมูลค่าก่อสร้างวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา กับมูลค่าในวันที่โครงการพัฒนาแล้วเสร็จ แล้วแต่กรณี สำหรับอัตราจัดเก็บภาษีจะมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยเสนอให้ ครม.เห็นชอบแล้วออกเป็นพระราชกฤษฎีกาอีกครั้ง
 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์