ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
  • ลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ
นิตยสารบ้านสุขใจ
Line
30 เม.ย.2556

เมษายน 2556

Line

วันมหาสงกรานต์เดือนเมษายนหรือวันขึ้นปีใหม่ไทยผ่านพ้นไปแล้ว ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนระอุ หลายๆ ท่านคงมีความสุขกับการเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างเย็นฉ่ำ หลายๆ ท่านมีโอกาสเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เพื่อไปรดน้ำดำหัวพ่อแม่และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และหลายๆ ท่านที่อยู่กรุงเทพฯ ก็อาจถือโอกาสวันหยุดยาวต่อเนื่องนี้ ขับรถพาครอบครัวออกไปเที่ยวพักผ่อนในต่างจังหวัดกัน ผู้เขียนเองก็จัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายนี้แหละครับ ซึ่งก็พาครอบครัวเดินทางเสาะแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวใกล้ๆ ในจังหวัดภาคกลาง โดยขับรถแวะเที่ยวไปตั้งแต่ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี บางแห่งก็นานมากแล้วที่ไม่ได้แวะไปเทียวเลย แต่หลายๆ แห่งก็เพิ่งมีโอกาสได้ไปสัมผัส โดยเฉพาะร้านอาหารและที่พักริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเส้นเลือดใหญ่ที่ไหลผ่านจังหวัดที่กล่าวมา ผู้เขียนแทบไม่เชื่อว่าจะมีสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักผ่อนสวยๆ แอบซ่อนอยู่หลายแห่ง เพียงแต่ไม่อู้ฟู่หรูหราเหมือนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ บางจังหวัด ก็ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และโบราณสถานอันสวยงามที่ได้ชมแล้วสุขใจจริงๆ ครับ

หลังจากพักผ่อนหยุดยาวหลายวัน เมื่อกลับมาทำงานใหม่อีกครั้งก็ยังขับเคลื่อนเดินหน้าได้ไม่เต็มที่นัก เหตุก็เพราะแรงงานและช่างก่อสร้างยังไม่เดินทางกลับมาต่างจังหวัดกัน ทราบมาเบื้องต้นว่าจะกลับมาทำงานกันอีกทีก็ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม (โน่น) เป็นไงล่ะครับ งานมี เงินมี จ่ายแพง แต่ไม่มีคนทำงานซะงั้น นับวันก็ยิ่งเหนื่อยใจกับแรงงานไทยจริงๆ โดยเฉพาะแรงงานภาคก่อสร้างที่ ณ ปัจจุบันถือว่าวิกฤติจริงๆ แม้ว่าจะเตรียมตัวและปรับตัวรับมือด้วยการนำระบบก่อสร้างสำเร็จรูปมาใช้แล้ว ก็ยังไม่วายโดนหางเลขไปเต็มๆ นี่ไม่รู้ว่า ผู้ประกอบการที่ไม่ทันปรับตัวและยังก่อสร้างด้วยวิธีเดิมๆ เขาทำยังไงกันหนอ เพราะวันนี้พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หาแรงงานคนไทยมาทำงานด้วยแทบไม่ได้เลย

ผู้เขียน มองว่าปัญหานี้น่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปรับตัว ของราคาค่าก่อสร้างหรือราคาบ้านในระยะเวลาอันใกล้นี้ เมื่อผู้ประกอบการจำเป็นต้องจ่ายค่าจ้างหรือค่าแรงแพงๆ ซึ่งไม่แน่เราอาจได้เห็นค่าก่อสร้างบ้านที่ในอดีตเป็นต้นทุนวัสดุร้อยละ 70 ต้นทุนค่าแรงร้อยละ 30 พลิกกลับมาเป็นตรงกันข้ามหรือกลายเป็น ค่าแรงร้อยละ 70 ค่าวัสดุร้อยละ 30 (คิดเล่นๆ นะครับ แต่...ก็อาจจะจริง) ซึ่งในปัจจุบันงานก่อสร้างหรือต่อเติมเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างเราจะเห็นว่าค่าแรงบวกค่าบริการ แพงกว่าค่าวัสดุเสียแล้ว ฉะนั้นก็อาจเป็นไปได้ที่น้ำหนักของต้นทุน ค่าแรงสร้างบ้านในอนาคตจะขยับขึ้นมาสูงพอๆ กับต้นทุนค่าวัสดุ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ระบบการสร้างบ้าน จะถูกพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมหรือผลิตมาจากโรงงานแล้วยกไปติดตั้งเหมือนๆ กับในต่างประเทศที่ค่าแรงงานแพง

นึกถึงภาพในอนาคตแล้ว ก็อดนึกถึงผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายเล็กรายกลางไม่ได้ โดยเฉพาะรายที่ยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ธุรกิจรับสร้างบ้านจะเปลี่ยนจากคำว่า “บริการ” ไปสู่ “อุตสาหกรรม” ซึ่งเมื่อคิดและเชื่อเช่นนั้นก็ไม่เฉลียวใจที่จะเตรียมตัวเผื่อเอาไว้ มาถึงวันนี้ พอเริ่มรู้ตัวก็ดูจะอาการสาหัสกันเสียแล้ว เพราะเดินหน้าด้วยวิธีก่อสร้างเดิมๆ ก็เป็นปัญหา ในขณะที่ผู้เล่นรายใหญ่หรือทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้าน มาพร้อมกับเทคโนโลยีและผลิตแบบระบบอุตสาหกรรม ผู้เขียนเชื่อว่าเร็วๆ นี้ก็จะมีรายใหญ่อื่นๆ เข้ามาแข่งขันอีกแน่ๆ เมื่อมองเห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้ปฏิเสธหรือให้การตอบรับระบบสำเร็จรูป แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะยังมีการยอมรับไม่มากนัก แต่ด้วยชื่อเสียงของผู้เล่นรายใหม่ (รายใหญ่) และเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ว่าด้วยคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่สม่ำเสมอ รวมทั้งระยะเวลาการก่อสร้างที่รวดเร็วกว่าระบบก่อสร้างแบบเดิมๆ คงไม่ยากที่จะสร้างการยอมรับในอนาคตอันใกล้นี้

ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ จะมีงานใหญ่ในแวดวงสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างคือ งานสถาปนิก’ 56 ที่จะจัดขึ้น ณ อาคารชาเลนเจอร์ฮอลล์1-3 อิมแพคเมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 30 เมษายน - 5พฤษภาคม 2556 เท่าที่ผู้เขียนสำรวจตรวจสอบรายชื่อ รวมทั้งโฆษณาและข่าวสารประชาสัมพันธ์ ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างหลายๆ ราย ที่เตรียมมาเปิดตัวในนามธุรกิจ “รับสร้างบ้าน” ซึ่งผู้ผลิตหลายๆ รายมีการพัฒนาและต่อยอดจากผู้ผลิตหรือจำหน่ายวัสดุมาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้าน ด้วยเหตุผลก็คือเพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่ม จากเดิมที่เป็นแค่ผู้ผลิต แต่มาวันนี้เริ่มต่อยอดธุรกิจจนสามารถนำส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค ถือเป็นการบริหารจัดการกระบวนการผลิตและจำหน่ายอย่างครบวงจร หรือเรียกได้ว่าครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ นี่แหละคือ ความได้เปรียบของธุรกิจที่มีทุนขนาดใหญ่ แล้วบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็น SMEs จะแข่งขันอย่างไรในอนาคต ฝากไว้ ช่วยๆ กันคิด แล้วฉบับหน้าจะเก็บข้อมูลใหม่ๆ ในงานสถาปนิก’ 56 มาเล่าต่อนะครับ

 


นายสิทธิพร สุวรรณสุต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร