หน้าแรก / สาระน่ารู้ / เกร็ดความรู้
เกร็ดความรู้
หน้าแรก / เกร็ดความรู้

6 วิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

Line

6 วิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

Line


ไฟฟ้าลัดวงจร หายนะที่เผาผลาญบ้านเรือนและคร่าชีวิตผู้อยู่อาศัยมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ถือเป็นอันตรายภายในบ้านอันดับหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว แต่ไฟฟ้าก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างขาดไม่ได้ ทุกคนจึงต้องเข้าใจสาเหตุและป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรให้ดี เพื่อการใช้ไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอุ่นใจ ปลอดภัยหายห่วง

ไฟฟ้าลัดวงจรคืออะไร

ไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit) คือ การไหลของกระแสไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ที่อยู่นอกวงจรไฟฟ้าตามปกติ โดยแต่ละจุดอาจมีแรงดันไฟฟ้าต่างกัน หรือนำไฟฟ้าในประจุตรงข้ามกัน หรือเป็นสื่อนำไฟฟ้าลงดิน ส่งผลให้เกิดการถ่ายเทพลังงานเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความร้อนสูงและประกายไฟ ซึ่งนำไปสู่เหตุเพลิงไหม้ในที่สุด

ส่วนไฟดูดหรือไฟฟ้าช็อต ก็คือคำที่ใช้เรียกเหตุการณ์ไฟฟ้าลัดวงจรเช่นกัน แต่มักจะถูกใช้ในสถาณการณ์ที่มนุษย์หรือสิ่งอื่นที่ไม่อยู่ในระบบไฟฟ้าไปสัมผัสกับวงจรไฟฟ้าโดยตรง หรือการสัมผัสกับสื่อนำไฟฟ้าอย่างโลหะหรือน้ำที่กำลังมีกระแสไฟฟ้ารั่ว ก็จะถูกไฟฟ้าช็อตหรือถูกไฟดูด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต

ไฟฟ้าลัดวงจรเกิดจากอะไร
1. ใช้คัตเอาต์ไฟฟ้าแบบเก่า

แม้ไฟฟ้าลัดวงจรไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงมาจากการใช้คัตเอาต์แบบเก่า แต่คัตเอาต์ประเภทนี้จะตัดหรือต่อวงจรไฟฟ้าได้ก็ต่อเมื่อยกขึ้นลงด้วยมือ จึงไม่ตัดการทำงานอัตโนมัติเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยอย่างยิ่ง
2. ฉนวนสายไฟฉีกขาด

สายไฟทุกเส้นจะมีพลาสติกห่อหุ้มเป็นฉนวนเพื่อไม่ให้ลวดนำไฟฟ้าที่อยู่ภายในสัมผัสกันเองหรือไปสัมผัสกับสิ่งอื่น หากฉนวนสายไฟฉีกขาด ลวดนำไฟฟ้าอาจไปเสียดสีกับสายไฟหรือสื่อนำไฟฟ้าอื่นจนเกิดการลัดวงจรได้
3. เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด

เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดล้วนมีอายุการใช้งานจำกัด หากเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าเกินไป หรือมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเกิดความผิดปกติจนวงจรไฟฟ้าเสียหาย สิ่งเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่เหตุไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงลุกไหม้ได้ไม่ยาก
4. อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน

อุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ ปลั๊กไฟ หรือปลั๊กราง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านตลอดเวลา หากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่มีระบบความปลอดภัยและมาตรฐานในการผลิตที่ดีพอ ก็อาจเกิดอาการปลั๊กไหม้ได้ง่าย ๆ
5. ใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง

การใช้ไฟฟ้าเกินกำลังเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น สายไฟเส้นเล็กเกินไป ใช้กระแสไฟผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้ามากเกินไป หรือมีการต่อปลั๊กพ่วงมากเกินไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ามากเกินรับไหว จนเกิดเป็นความร้อนและลัดวงจรได้ในที่สุด

วิธีป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
1. ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์

หากบ้านไหนยังใช้คัตเอาต์อยู่ ควรเปลี่ยนมาใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์โดยไว เพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อพบความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า ถือเป็นปราการด่านสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากไฟฟ้าลัดวงจร
3. เปลี่ยนสายไฟที่เก่าและขาด

เมื่อพบเห็นสายไฟในบ้านเริ่มกรอบหรือมีรอยฉีกขาด สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตัดกระแสไฟฟ้าในบริเวณนั้น แล้วเปลี่ยนสายไฟใหม่โดยเร็วที่สุด แต่ถ้ายังมีความจำเป็นต้องใช้สายไฟเดิม ก็ต้องซ่อมแซมด้วยเทปพันสายไฟให้แน่นหนาที่สุด
4. ตรวจสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทุกคนในบ้านต้องเป็นหูเป็นตา หมั่นสังเกตอาการและตรวจสอบสภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า หากมีกลิ่นไหม้ ไฟรั่ว ทำงานผิดปกติ หรือมีสภาพเก่าจนพลาสติกกรอบ ก็ควรเลิกใช้และซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่มาทดแทน
5. เลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน

อย่าเห็นแก่ปลั๊กรางราคาถูกตามตลาดนัด หรือซื้อปลั๊กพ่วงธรรมดาที่ไร้ซึ่งระบบความปลอดภัยใด ๆ มาใช้งาน แต่ควรมองหาอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฟิวส์ตัดกระแสไฟฟ้าในตัว และได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จึงจะปลอดภัยที่สุด
6. เลิกใช้ไฟฟ้าเกินกำลัง

ก่อนใช้ไฟฟ้า ขอให้สังเกตว่าปลั๊กรางรองรับการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุดกี่วัตต์ และต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ให้เกินวัตต์ที่กำหนดไว้ ส่วนการต่อปลั๊กรางเป็นทอด ๆ หรือต่อปลั๊กพ่วงหลายหัวในเต้าเสียบเดียว ก็ถือเป็นพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่ไม่ควรทำ

เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรต้องทำอย่างไร

เมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนเสมอคือ การตัดกระแสไฟฟ้าออกจากจุดนั้นให้เร็วที่สุด หากเกิดไฟลุกไหม้ ก็ห้ามสาดน้ำก่อนตัดกระแสไฟฟ้าเด็ดขาด หรือถ้ามีคนถูกไฟดูด ก็ห้ามสัมผัสตัวก่อนตัดกระแสไฟฟ้าเช่นกัน เพราะคนช่วยเหลืออาจถูกไฟฟ้าช็อตตามได้

หากทุกคนรู้จักใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี มีการป้องกันที่ดีตั้งแต่ระบบเบรกเกอร์หลักของบ้าน และใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน ก็ขอให้อุ่นใจไว้ได้เลยว่า จะไม่มีโศกขนาฏกรรมที่เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรอย่างแน่นอน แล้วอย่าลืมสังเกตบิลค่าไฟฟ้าที่แพงผิดปกติด้วย เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่ามีไฟฟ้ารั่วอยู่ที่ไหนสักแห่งในบ้านก็เป็นได้


ขอขอบคุณที่มา : ddproperty.com
ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์
เราสร้างบ้านเพื่ออนาคต

Line